ยอดมัลแวร์พุ่ง! แคสเปอร์สกี้เผย ผู้ใช้ถูกโจมตีด้วยไฟล์อันตรายใหม่ 400,000 ไฟล์ต่อวัน

ยอดมัลแวร์พุ่ง! แคสเปอร์สกี้เผย ผู้ใช้ถูกโจมตีด้วยไฟล์อันตรายใหม่ 400,000 ไฟล์ต่อวัน มากกว่าปี 2021 ถึง 5%

ในปี 2022 ระบบตรวจจับของแคสเปอร์สกี้ (Kaspersky) ตรวจพบไฟล์ที่เป็นอันตรายที่แพร่กระจายโดยเฉลี่ย 400,000 ไฟล์ต่อวัน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปี 2021 นอกจากนี้จำนวนของภัยคุกคามบางประเภทก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยผู้เชี่ยวชาญของแคสเปอร์สกี้พบว่าสัดส่วนของแรนซัมแวร์เพิ่มขึ้น 181% ทุกวัน การค้นพบต่างๆ นี้ เป็นส่วนหนึ่งของรายงาน Kaspersky Security Bulletin (KSB) ซึ่งเป็นการคาดการณ์และรายงานเชิงวิเคราะห์ประจำปีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในโลกความปลอดภัยทางไซเบอร์

ข่าวเทคโนโลยีวันนี้

ระบบตรวจจับของแคสเปอร์สกี้ค้นพบไฟล์ที่เป็นอันตรายใหม่โดยเฉลี่ย 400,000 ไฟล์ต่อวันในช่วงสิบเดือนที่ผ่านมา จากการเปรียบเทียบกับปี 2021 มีการตรวจพบไฟล์อันตรายประมาณ 380,000 ไฟล์ต่อวัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้น 5% โดยรวมแล้วในปี 2022 ระบบของแคสเปอร์สกี้ตรวจพบไฟล์ที่เป็นอันตรายประมาณ 122 ล้านไฟล์ มากกว่าปีที่แล้ว 6 ล้านไฟล์

นักวิจัยของแคสเปอร์สกี้ค้นพบว่าสัดส่วนของแรนซัมแวร์ที่พบทุกวันเพิ่มขึ้น 181% เมื่อเทียบกับปี 2021 เป็นไฟล์ที่เข้ารหัสจำนวนสูงถึง 9,500 ไฟล์ต่อวัน ในบรรดาภัยคุกคามอื่นๆ โซลูชันการรักษาความปลอดภัยของแคสเปอร์สกี้ยังตรวจพบสัดส่วนของ downloaders ซึ่งเป็นโปรแกรมอันตรายที่ติดตั้งมัลแวร์เวอร์ชันใหม่หรือแอปพลิเคชันที่ไม่ต้องการบนอุปกรณ์ที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 142%

ระบบปฏิบัติการ Windows ยังคงเป็นเป้าหมายหลักของการโจมตีในทุกแพลตฟอร์มที่มีการแพร่กระจายของภัยคุกคาม ในปี 2022 ผู้เชี่ยวชาญ ค้นพบไฟล์อันตรายโดยเฉลี่ยเกือบ 320,000 ไฟล์ที่โจมตีอุปกรณ์ Windows จากการแพร่กระจายของไฟล์ที่เป็นอันตรายทั้งหมด 85% ของไฟล์เหล่านี้พุ่งเป้าไปที่ Windows อย่างไรก็ตาม Windows ไม่ใช่แพลตฟอร์มยอดนิยมสำหรับผู้โจมตีเท่านั้น ในปีนี้ ระบบตรวจจับของแคสเปอร์สกี้ยังพบว่าสัดส่วนของไฟล์อันตรายในรูปแบบ Microsoft Office ที่แพร่กระจายทุกวันนั้นเพิ่มขึ้นสองเท่า (236%)

ปิดตัว Google Stadia บริการคลาวด์เกมมิ่ง เก่งเรื่อง Tech ไม่ได้แปลว่าเก่งเรื่องเกม

Google Stadia ครั้งหนึ่งเคยเป็นโปรดักต์ที่ Google ปั้นเพื่อเข้ามาเจาะตลาดเกม แข่งกับ Sony, Microsoft (Xbox) และด้วยศักยภาพเทคโนโลยีที่ Google มีหลายคนก็คาดหวังว่า Google จะแข่งได้

แต่จากข่าวการปิดตัวของ Google Stadia ก็พิสูจน์แล้วว่า มันไม่ง่ายขนาดนั้น

Google ประกาศจะยุติบริการสตรีมเกม Stadia เหตุผลหลักคือ คนเล่นน้อย ไม่เป็นไปตามเป้า และจะคืนเงินให้คนที่ซื้อฮาร์ดแวร์จอยเกม และคนที่ซื้อเกมไปด้วย โดยผู้เล่นยังเล่นได้จนถึงวันที่ 18 ม.ค. ปี 2023 และ Google คาดว่าจะคืนเงินให้ครบได้กลางเดือนมกราคม ปี 2023 เช่นกัน

ก่อนที่จะมีประกาศปิดตัวอย่างเป็นทางการ สถานการณ์ของ Stadia ก็ไม่สู้ดีอยู่แล้ว มีข่าวลือการปิดตัวบ่อย มีการปิดสตูดิโอเกม มีพนักงานในส่วนงานนี้ลาออกหลายคน

สำหรับใครที่ไม่คุ้นชื่อ Stadia ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะ Stadia ยังไม่เปิดใช้งานในไทย ในบทความนี้จะพาไปรู้จัก Stadia และระบบคลาวด์เกมมิ่งให้มากขึ้น

[ ทำความรู้จัก Google Stadia และระบบคลาวด์เกมมิ่ง ]

Stadia คือบริการเล่นเกมผ่านคลาวด์ของ Google ซึ่งในการเล่นเกมตามปกติ มีองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้คือคอนโซลเกม หรือฮาร์ดแวร์ที่ใช้พลังในการประมวลผลสูง ทำให้เล่นเกมหนักๆ ได้ อย่างเช่นคอนโซลเกมของ Xbox, PlayStation และ Nintendo เป็นต้น

เมื่อเทคโนโลยีหันมาสู่คลาวด์มากขึ้น ก็เริ่มมีแนวคิดการนำเกมคอนโซลขึ้นคลาวด์ไปเลย และเล่นผ่านที่ไหนก็ได้ผ่านแท็บเล็ต พีซี สมาร์ททีวี แล้วจ่ายค่าเล่นเป็นรายเดือน

แนวคิด คลาวด์เกมมิ่งก็คล้ายๆ สตรีมมิ่ง ที่เราไม่ต้องดูผ่านซีดี วิดีโอ อีกต่อไปแล้ว แต่ดูผ่านแพลตฟอร์ม Netflix, Disney+, Prime Video ฯลฯ แทน

ซึ่งคลาวด์เกมมิ่ง จะช่วยดึงดูดผู้เล่นหน้าใหม่ เพราะไม่ต้องลงทุนคอนโซลเกมแพงๆ หลายบริษัทโดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีที่ถนัดการสร้างแพลตฟอร์มก็เข้ามาจับตลาดนี้ ตั้งแต่ Google ทำ Google Stadia, Amazon Luna ของ Amazon, Apple Arcade ของ Apple

Google Stadia ได้รับการเปิดเผยอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2019 ที่งาน Game Developers Conference ส่วนตัวแพลตฟอร์มก็เปิดตัวในปีเดียวกัน เคาะราคาที่เดือนละ 9.99 ดอลลาร์

Google Stadia โฆษณาฟีเจอร์ล้ำๆ ไว้มากมาย ตั้งแต่เล่นผ่านเบราว์เซอร์ Chrome ได้, สตรีมเล่นเกมที่ 4K ได้ สตรีมร่วมกับ YouTube ได้ ถือเป็นการทำงานร่วมกันบนอีโคซิสเต็มที่มี และ YouTube ก็ขึ้นชื่อเรื่องคอนเทนต์เกมอยู่แล้ว

บรรดาบล็อกเกอร์ นักรีวิวที่ได้มีโอกาสจับ Stadia ในช่วงเปิดตัวแรกๆ ก็รีวิวไปในทางที่ดี บอกว่า Stadia มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับการเล่นเกมผ่านคอนโซลเลยทีเดียว

Google Stadia ค่อยๆ ประกาศรายชื่อเกมที่จะเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์ม มีเกมจากค่ายดัง เช่น Square Enix, Ubisoft, EA, Capcom, Rockstar และเมื่อปีที่แล้วนี้เอง Stadia ประกาศความสำเร็จ มีเกมในคลังครบ 100 เกมแล้ว

Google Stadia ยังไปไกลกว่านั้น ด้วยการสร้างสตูดิโอเกมของตัวเองเลย ลดการพึ่งพาค่ายเกมต่างๆ สร้างสตูดิโอทำเกม Stadia Games and Entertainment ที่ตั้งแห่งแรกของสตูดิโออยู่ที่ Montréal แคนาดา หลังจากนั้นก็ซื้อกิจการ Typhoon Studios สตูดิโอเกมอิสระจากแคนาดาเข้ามาด้วย

[ ตลาดเกมปราบเซียน ]

การเปิดตัว Stadia เป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของวงการเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม การเล่นเกมผ่านคลาวด์จะกลายเป็น Future Gaming และมันอาจจะ disrupt บริษัทเกมที่อยู่มานานอย่าง Sony, Nintendo

แต่ความเป็นจริงมันไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะจุดอ่อนที่ใหญ่ที่สุดของ Google Stadia คือไม่มีเกมในครอบครอง หรือมีน้อยจนแข่งขันได้ยาก

แม้ Google เปิด Stadia Games and Entertainment แต่ตัวสตูดิโอกลับมีอายุสั้น ปิดตัวลงในเดือน ก.พ. ปี 2021 มีอายุราวๆ 2 ปีเท่านั้น และปิดตัวไปโดยที่ยังไม่ทันจะเปิดตัวเกมของตัวเองเลย

Jade Raymond ผู้ทำหน้าที่ลีดสตูดิโอเกมของ Google ผู้มีประสบการณ์ในวงการเกมมาเกือบ 20 ปีก็ลาออกจาก Google ทำให้ข่าวลือเรื่องการปิดตัว Stadia หนาหูขึ้นเรื่อยๆ

Stadia เองก็ต้องเจอกับคู่แข่งด้วย โดยเฉพาะบริษัทที่มีทั้งเกม และมีทั้งฮาร์ดแวร์เกมอย่าง Sony ที่มีบริการ PlayStation Now และ Microsoft ที่มีบริการ Xbox Game Pass (ตัวเลขปีที่แล้วมีผู้เล่น 25 ล้านราย) ซึ่งถือว่าได้เปรียบกว่า Google มาก

นี่ยังไม่นับความเคลื่อนไหวของ Microsoft ที่ซื้อสตูดิโอเกมมาเรื่อยๆ เพื่อเสริมแกร่งให้กับธุรกิจเกมอย่าง Xbox และล่าสุด เข้าซื้อกิจการบริษัทเกมรายใหญ่ Activision Blizzard ด้วยมูลค่ากว่า 68,000 ล้านดอลลาร์ เท่ากับเปิดทางให้มีเกมบน Xbox Game Pass เพิ่มขึ้นอีกมาก แซึ่งผู้ชนะในศึกคลาวด์เกมมิ่งก็คงจะไม่หนี Microsoft

ด้วยเหตุผลทั้งหมด ทั้งมวล ก็นำมาสู่การปิดตัว Stadia และเก็บเข้าสุสาน Google ไปอีกหนึ่งบริการ

[ตลาดพร้อมสำหรับคลาวด์เกมมิ่งหรือยัง ]

แม้รีวิวบล็อกเกอร์ที่ได้จับ Stadia จะรีวิวไปในเชิงบวก แต่ก็มีปัญหาหลายอย่าง หลักๆ คือ Google โฆษณาความสามารถเกินจริง เช่นสตรีมเล่น 4K ได้ แต่จริงๆ เป็นการอัพสเกลวิดีโอเท่านั้น และการเปิดตัวเกมที่ให้สัญญาไว้ก็มีความล่าช้า เพราะขึ้นอยู่กับสตูดิโอผู้ผลิตด้วย (ข้อเสียของการไม่มีเกมเป็นของตัวเอง)

แล้วจริงๆ แล้ว เทคโนโลยีก็ดี ผู้เล่นก็ดี พร้อมสำหรับคลาวด์เกมมิ่งหรือยัง

จากการวิจัยตลาดของ Brandessence คลาวด์เกมมิ่งมีขนาดที่ 609.67 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 มีแนวโน้มที่จะเติบโตที่ 42.8% ช่วงระหว่างปี 2022-2028 และจะโตที่ 7,382.37 ล้านเหรียญสหรัฐภายในสิ้นปี 2028 ได้

Brandessence ให้เหตุผลว่า คลาวด์เกมมิ่งกำลังจะกลายเป็นอุตสาหกรรมพันล้านดอลลาร์ในอนาคตอันใกล้ เพราะจะมีการเพิ่มขึ้นของดาต้าเซ็นเตอร์ คลาวด์คอมพิวติ้ง ซึ่งเชื่อมโยงถึงคลาวด์เกมมิ่ง ภูมิภาคที่จะมองห็นเลขการเติบโตสูงคือเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น

คลาวด์เกมมิ่ง ยังลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเกม มีแบรนด์เกมมากมายที่ตอนนี้กำลังพัฒนา เช่น NVIDIA Corporation, Sony Corporation, Microsoft, Amazon Web Services Inc. เป็นต้น